เชื่อหรือไม่! สมัยนี้ยังมีคนคิดว่า ถ้าถูกยุงกัด ต่อจากคนที่มีเชื้อแล้ว จะสามารถติดเอชไอวีได้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า “ไวรัสเอชไอวี” สามารถส่งต่อเชื้อได้ผ่านมนุษย์สู่มนุษย์เท่านั้น ชื่อก็ระบุไว้ชัดเจนว่า HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่า ยุงกัดติดเอชไอวี จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
เอชไอวี ติดต่อผ่านช่องทางใด
- เลือด
- สารคัดหลั่ง
- น้ำหล่อลื่นอวัยวะเพศ
- น้ำนมจากมารดาที่มีเชื้อ
เพราะเหตุใด ยุงกัดติดเอชไอวี ถึงเป็นความคิดที่ล้าหลัง
แม้ว่ายุงจะกินเลือด และสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่กลไกการหาอาหารของยุง หรือแมลงส่วนมาก เมื่อคนถูกกัด ยุงจะไม่ได้ฉีดเลือดของคนก่อนหน้า ที่มันดูดเลือดไปใส่ให้คนที่กำลังกัดอยู่ รวมไปถึงเชื้อเอชไอวีเอง ก็มีความอ่อนแอสูง ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยาวนาน ภายในตัวยุงที่ดูดเชื้อเข้าไป เนื่องด้วยลักษณะของมันเป็นแมลงที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เชื้อไวรัส สามารถเจริญเติบโต หรือแพร่ขยายเชื้อได้เหมือนร่างกายคนปกติ ถ้าหากคุณถูกยุงกัดบ่อยๆ สิ่งเดียวก็ควรคำนึงว่าจะเป็น คือ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ซิกา โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง มากกว่าห่วงว่าจะติดไวรัสเอชไอวี แถมโรคเหล่านี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าอีกด้วย
พฤติกรรมแบบไหน? ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ใช้บริการผู้ให้บริการทางเพศ
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
- สักหรือเจาะร่างกายด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- ใช้เจลหล่อลื่นไม่ถูกประเภททำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดง่าย
- เคยตรวจพบว่าเป็นหรือกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ถุงยางอนามัยแตกรั่วขณะมีเพศสัมพันธ์ และไม่ได้รับยาต้านฉุกเฉิน
เอชไอวี ไม่เลือกเพศ
ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่ม LGBTQ เท่านั้นที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ถึงแม้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าทางช่องคลอดปกติ เพราะไม่ใช่อวัยวะที่ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้ แต่ทุกเพศ ไม่ว่าอาชีพ หรืออายุเท่าไหร่ ก็สามารถติดเชื้อได้ทั้งนั้น หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้ายังมีเซ็กส์ เท่ากับมีความเสี่ยงเพราะเราไม่อาจรู้หรอกว่า คู่นอนของคุณมีประสบการณ์ทางเพศที่ผ่านมาอย่างไร เขาอาจมีสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่ได้บอกให้คุณรู้ หรือพลาดมีสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เป็นเรื่องยากที่คู่รักจะเปิดใจในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้น การที่คุณระมัดระวังไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ปัญหาทีหลัง
เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องซับซ้อน
- เรื่องเซ็กส์รอได้ ปฏิเสธได้ หากยังไม่พร้อม
- ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ถ้าไม่ใช้เท่ากับเสี่ยง
- ปรึกษาแพทย์ ทานยาเพร็พ (PrEP) ป้องกันเอชไอวี
- ตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
- ทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะเพศทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
ข้อดีเกี่ยวกับถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ช่วยป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ไวรัสเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรที่คุณจะสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคู่นอนประจำ หรือคู่นอนคนใหม่ก็ตาม เพราะถือเป็นการรับผิดชอบและใส่ใจในสุขภาพทางเพศของคุณทั้งคู่ ยิ่งในปัจจุบัน ถุงยางอนามัยมีลูกเล่นมากมายหลายรูปแบบให้คุณได้เลือกซื้อ รูปลักษณะ พื้นผิว กลิ่น สี รสชาติ โดยจะต้องเลือกยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐาน อย. และควรจะได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพเมื่อนำมาใช้ลงสนามจริง
ด้วยวิทยาการที่ก้าวไกลทางการแพทย์นั้น ทำให้ไวรัสเอชไอวีไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดในอดีต แถมยังไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ในกรณีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จนเข้าสู่ภาวะ U=U แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อผิดๆ อย่างการถูก ยุงกัดติดเอชไอวี ควรถูกลบออกไปจากสังคม เพื่อลดความน่ากลัวของโรคนี้ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนได้เข้าใจใหม่ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถรักษาได้แต่ไม่เสียชีวิตครับ